คณะสหเวชศาสตร์ จัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2534 โดยแยกภาควิชาเทคนิคการแพทย์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ ออกมาจัดตั้งเป็นคณะสหเวชศาสตร์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 108 ตอนที่ 199 หน้า 64-65 วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 การถือกำเนิดของคณะสหเวชศาสตร์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาการของหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ในคณะแพทยศาสตร์ จุุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงประวัติของหลักสูตรนี้ทั้งช่วงก่อนและภายหลังการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะทำให้เข้าใจเรื่องราวของคณะสหเวชศาสตร์ได้ดีขึ้นดังเรื่องราวโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

เทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

พ.ศ. 2502-2514

หลักสูตรเทคนิคการแพทย์เปิดตัวขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยในระดับอนุปริญญา 3 ปีเมื่อ พ.ศ. 2498 ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แยกการเรียนการสอนออกเป็น 2 สถานที่ คือ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการสร้างอาคารเทคนิคการแพทย์ในทั้งสองโรงพยาบาล ด้วยทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อาคารทั้งสองมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเหมือนกัน เพียงแต่กลับด้านคล้ายเงาในกระจกของกันและกัน ในเวลาต่อมาอาคารเทคนิคการแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชเกิดเหตุไฟไหม้ เหลือเฉพาะอาคารเทคนิคการแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพียงแห่งเดียว ในส่วนของอาคารเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกแบบแล้วเสร็จเมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ใช้เวลาก่อสร้างหนึ่งปี วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 จึงเปิดใช้พื้นที่บางส่วน เพื่อบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกและเคมีคลินิกแก่ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ปีต่อมาจึงเริ่มดำเนินงานด้านการเรียนการสอน บทบาทของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต่อการผลิตบุคลากรทางเทคนิคการแพทย์จึงเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2502 และดำเนินการมาจนกระทั่งการถือกำเนิดของคณะสหเวชศาสตร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

พ.ศ. 2502
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มให้บริการการเรียนการสอนหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ระดับอนุปริญญา 3 ปี ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข การเรียนการสอนหลักสูตรในระดับอนุปริญญานี้ในส่วนของโรงพยาบาลศิริราชดำเนินการเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ จากนั้นจึงปรับเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปีในปี พ.ศ. 2503 ในขณะที่การเรียนการสอนในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังคงเป็นระดับอนุปริญญานานกว่าสิบปี กระทั่งปรับเป็นระดับปริญญาตรี 4 ปี ในปีการศึกษา 2513

พ.ศ. 2510
มีการโอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่ดำเนินการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาขึ้นสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนในส่วนของหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ระดับอนุปริญญา 3 ปี รวมทั้งนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ที่ศึกษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตลอดจนอาคารเทคนิคการแพทย์ยังคงขึ้นสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ดังเดิม

พ.ศ. 2513
มหาวิทยาลัยมหิดล (มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิมซึ่งได้รับพระราชทานนามใหม่ในปี พ.ศ. 2512) ภายใต้สังกัดใหม่คือทบวงมหาวิทยาลัยยกเลิกหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ระดับอนุปริญญา 3 ปีในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนำเอาหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ระดับปริญญาตรี 4 ปีซึ่งใช้อยู่ในโรงพยาบาลศิริราชมาใช้แทน

เทคนิคการแพทย์ภายใต้สังกัดคณะแพทยศาสตร์

พ.ศ. 2514- 2534

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาดูแลการเรียนการสอนหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ระดับปริญญาตรี 4 ปี ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แทนมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2514 โดยใช้หลักสูตรเดียวกันกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดในปี พ.ศ. 2503 และประกาศใช้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปี พ.ศ. 2513 ในขณะนั้นอาคารเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตลอดจนบุคลากรบางส่วนยังอยู่ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2514
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยมหิดลทำการรับโอนนักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 2 จำนวน 30 คนที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2512 และประสงค์จะขึ้นสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในภาควิชาพยาธิวิทยา นิสิตชุดนี้คือบัณฑิตหลักสูตร วท.บ. เทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 1 บทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อการผลิตบัณฑิตสาขาเทคนิคการแพทย์ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มตัว

ปลายปีนี้เองเกิดการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินขึ้น คณะปฏิวัติมีประกาศจัดตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนด้านเทคนิคการแพทย์ และให้บริการทางห้องปฏิบัติการแก่ผู้ป่วยนอกและในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้งมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 22 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2514 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและงบประมาณของมหาวิทยาลัยมหิดลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เฉพาะส่วนที่อยู่ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปเป็นของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารเทคนิคการแพทย์และครุภัณฑ์ในอาคารจึงตกเป็นทรัพย์สินของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับแต่นั้น

พ.ศ. 2515
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดรับนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ชั้นปีที่ 1 เป็นปีแรก ทั้งรับโอนนักศึกษาหลักสูตร วท.บ. เทคนิคการแพทย์ของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2513 และ 2514 เฉพาะส่วนที่เรียนอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้มาเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 และ 3 เพิ่มเติมจากที่เคยรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2512 มาก่อนหน้านั้นซึ่งในเวลานั้นกำลังศึกษาในชั้นปีที่ 4

พ.ศ. 2516
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตในสาขาเทคนิคการแพทย์ จำนวน 25 คน นับเป็นบัณฑิตเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกภายใต้สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2524
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยาใจ ณ สงขลา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ขึ้นตามแผนพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 5 (คำสั่งที่ 294/2524 ลงวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2524)

พ.ศ. 2527
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ (คำสั่งที่ 19/2527 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527) เพื่อแยกภาควิชาเทคนิคการแพทย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นออกจากคณะแพทยศาสตร์ยกขึ้น เป็นคณะภายในแผนพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ปีเดียวกันนี้เองภาควิชาเทคนิคการแพทย์ได้ถือกำเนิดขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 88 ลงวันที่ 10 กรกฏาคม พ.ศ. 2527) โดยมีอาจารย์จำนง ภูมิภักดิ์ ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 มีการโอนข้าราชการจำนวน 19 อัตราจากภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรไปขึ้นสังกัดภาควิชาเทคนิคการแพทย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นอาจารย์ 16 คน เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ 2 คน และพนักงานธุรการ 1 คน บุคลากรกลุ่มนี้ต่อมาภายหลังกลายเป็นบุคลากรเริ่มต้นของคณะสหเวชศาสตร์ที่จะถือกำเนิดขึ้นในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2527 นี้มีการก่อสร้างอาคารใหม่เชื่อมกับอาคารเทคนิคการแพทย์ (อาคาร 14) มีชื่อว่าอาคารเหลืองอมรเลิศ เป็นอาคารขนาดเล็กสูง 3 ชั้น ทำให้ภาควิชาเทคนิคการแพทย์มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นจาก 727 ตารางเมตรเป็น 807 ตารางเมตร

วันที่ 28 ธันวาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์กล้าหาญ ตันติราษฎร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ และหมดวาระลงในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2531

พ.ศ. 2529
ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น จัดตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ขึ้นแทนคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ โดยยึดกรอบระยะเวลาสำเร็จของโครงการไว้ภายในแผนพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ดังเดิม

ก่อนหน้านี้เมื่อโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 6 แล้ว มีการปรึกษาหารือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับทบวงมหาวิทยาลัย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าคณะวิชาที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ควรประกอบด้วยหลายสาขาวิชา ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด สาขาวิชารังสีเทคนิค พร้อมทั้งพิจารณาชื่อใหม่ของคณะกระทั่งได้ชื่อว่า “คณะสหเวชศาสตร์” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Allied Health Sciences” มีการกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะไว้ว่าเพื่อรับผิดชอบการผลิตบัณฑิตสาขาวิชา เทคนิคการแพทย์ปีละ 60 คน สาขาวิชากายภาพบำบัดปีละ 30 คน สาขาวิชารังสีเทคนิคปีละ 30 คน โดยจะต้องเพิ่มจำนวนการผลิตบัณฑิตขึ้นตามความต้องการด้านการพัฒนาสาธารณสุข ของประเทศ

พ.ศ. 2531
วันที่ 28 ธันวาคม รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนา ศานติยานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ และหมดวาระลงเมื่อมีการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ขึ้นตอนปลายปี พ.ศ. 2534

พ.ศ. 2532
ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น เห็นชอบการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ ตามข้อเสนอของคณะแพทยศาสตร์ (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรเทอง รัชตะปิติ คณบดี ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ท่านผู้หญิงศรีจิตรา บุนนาค รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ในฐานะประธานโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์)

พ.ศ. 2533
คณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2533 วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2533 เห็นชอบให้จัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นคณะสหเวชศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย

พ.ศ. 2534
วันที่ 15 พฤศจิกายน มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเหตุผลเพื่อสนับสนุนการผลิตบัณฑิต การวิจัย และการบริการในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาต่าง ๆ มีการโอนย้ายบุคลากรจากภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ไปขึ้นสังกัดคณะสหเวชศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่ การดำเนินงานของคณะวิชาใหม่เริ่มขึ้นหลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยเหตุนี้เองชาวคณะสหเวชศาสตร์จึงกำหนดวันที่ 16 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันถือกำเนิดของคณะสหเวชศาสตร์ ในระยะแรก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรเทอง รัชตะปิติ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รับหน้าที่รักษาการคณบดีคณะสหเวชศาสตร์เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป

คณะสหเวชศาสตร์ในทศวรรษแรก

พ.ศ. 2535-2544

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2534 ทบวงมหาวิทยาลัยมีประกาศที่ ทม. 0204/33395 แบ่งส่วนราชการในคณะสหเวชศาสตร์ออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานเลขานุการ ภาควิชากายภาพบำบัด ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ภาควิชารังสีเทคนิค ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด และหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ

การเรียนการสอนในหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ในคณะสหเวชศาสตร์อยู่ภายใต้การจัดการของ 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก และภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด โดยคณะแพทยศาสตร์มอบหมายให้หลายภาควิชาในคณะแพทยศาสตร์สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในบางสาขาวิชาของหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ และทำการยุบภาควิชาเทคนิคการแพทย์ในเวลาต่อมา นิสิตที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2534 จึงนับเป็นนิสิตหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ปีสุดท้ายภายใต้สังกัดคณะแพทยศาสตร์

พ.ศ. 2535
วันที่ 28 สิงหาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยพร ณ นคร ขึ้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ และเป็นคณบดีคนแรกภายใต้สังกัดคณะสหเวชศาสตร์

พ.ศ. 2538
คณะสหเวชศาสตร์มีการรับนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดเป็นปีการศึกษาแรก

พ.ศ. 2540
คณะสหเวชศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการบางส่วนจากอาคารเหลืองอมรเลิศ และอาคารเทคนิคการแพทย์ (อาคาร 14) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาประจำการยังชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์ (ข้างคณะทันตแพทยศาสตร์)

คณะสหเวชศาสตร์ยุคทศวรรษที่สอง

พ.ศ. 2545-2554

ยุคครึ่งทศวรรษที่สองนับเป็นยุคเติบโตอย่างก้าวกระโดดของคณะสหเวชศาสตร์ ทั้งด้านจำนวนนิสิต งบประมาณ รายได้ การพัฒนาวิชาการ งานวิจัยและการบริการวิชาการ ตลอดจนการขยายตัวทางด้านพื้นที่ใช้สอย อันเป็นผลมาจากปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ คณะฯมีกิจกรรมในระดับนานาชาติเกิดขึ้นในช่วงนี้หลายครั้ง ซึ่งอาจสรุปได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

พ.ศ. 2545
คณะฯ จัดอบรมวิชาการด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแก่นักธุรกิจและประชาชนทั่วไป ขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22-26 เมษายน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 158 คน

วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 คณะฯ ได้รับมอบพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา ที่คืนพื้นที่แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาคารนี้มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า “อาคารจุฬาพัฒน์ 4”) จำนวน 820 ตารางเมตร โดยมหาวิทยาลัยมอบงบประมาณในส่วนของงบพัฒนาภาควิชาเพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่เป็นห้องปฏิบัติการของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์จำนวน 2 ห้อง

พ.ศ. 2546
คณะฯ เริ่มเข้าใช้พื้นที่ของอาคาร 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา (อาคารจุฬาพัฒน์ 4) โดยภาควิชาเคมีคลินิกและภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกย้ายห้องปฏิบัติการและห้องพักคณาจารย์ทั้งหมดจากอาคารเทคนิคการแพทย์ (อาคาร 14) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาใช้พื้นที่นี้ในภาคต้น พื้นที่บริเวณนี้ทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้เป็นพื้นที่ใหม่ของคณะสหเวชศาสตร์ในอนาคต

มหาวิทยาลัยเริ่มทำการก่อสร้างอาคารจุฬาพัฒน์ 1 ซึ่งเป็นอาคารใหม่ของคณะฯ พื้นที่ 3,794 ตารางเมตร

วันที่ 27 พฤษภาคม คณะฯ ได้รับมอบอาคารล็อกเกอร์ (จุฬาพัฒน์ 6) พื้นที่ 310 ตารางเมตร จากมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ตามเงื่อนไขการรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล อาคารนี้ทำการปรับปรุงจนแล้วเสร็จเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2547

คณะฯ จัดการประชุมวิชาการทางสหเวชศาสตร์ครั้งที่ 4 ขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม โดยวันที่ 4 สิงหาคม จัด ณ คณะครุศาสตร์ เป็นการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้เข้าร่วม 358 คน ส่วนวันที่ 5-6 สิงหาคม จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมประชุม 440 คน มีร้านค้าร่วมแสดงนิทรรศการ 17 ร้าน

ภาคต้น ปีการศึกษา 2546 ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก เริ่มเปิดสอนหมวดวิชาปรสิตวิทยา เพื่อทดแทนการเรียนการสอนหมวดวิชานี้ในคณะแพทยศาสตร์

วันที่ 13 สิงหาคม คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณปี พ.ศ. 2547-2549 จำนวน 75,559,600 บาท แก่โครงการ “จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและบริการทางวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาลพร้อมโครงข่าย” ของคณะฯ ตามการเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

พ.ศ. 2547
วันที่ 27 พฤษภาคม คณะฯ รับมอบอาคารจุฬาพัฒน์ 1 จากมหาวิทยาลัย เริ่มตกแต่งอาคารจุฬาพัฒน์ 1 โดยใช้งบประมาณของคณะฯ ในส่วนการตกแต่งห้องปฏิบัติการการเรียนการสอนและวิจัย คณะฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัย แล้วเสร็จเมื่อ 1 มิถุนายน 2548

วันที่ 5-6 สิงหาคม คณะฯ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจัดการประชุม “The Technical Meeting on Halal Logo under Sub Implementing Technical Group on Halal Foods, Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมประชุม 25 คนเป็นชาวต่างชาติ 11 คนจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย

วันที่ 1 ตุลาคม เริ่มเข้าใช้งานอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (จุฬาพัฒน์ 6)

วันที่ 15 ตุลาคม คณะฯ ร่วมกับองค์การอนามัยโลกจัดการประชุม “The International Symposium on In Search of Better and Effective Food Safety System: Thailand towards Kitchen of the World” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระชนมายุครบ 72 ชันษา ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ มีผู้ลงทะเบียนร่วมงาน 289 คนเป็นชาวต่างชาติ 22 คนจาก 10 ประเทศ

วันที่ 16 พฤศจิกายน จัดงานวันคล้ายวันเกิดคณะสหเวชศาสตร์ปีที่ 13 ณ ที่ทำการใหม่ของคณะฯ นับเป็นการใช้อาคารจุฬาพัฒน์ 1 ครั้งแรก

ธันวาคม สภามหาวิทยาลัยมีมติยกศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล คณะสหเวชศาสตร์ ขึ้นเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มติการประชุมครั้งที่ 658) อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ ยังดำเนินงานร่วมกับคณะฯ อย่างใกล้ชิด

พ.ศ. 2548
วันที่ 24 มกราคม เปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอย่างเป็นทางการ โดยนายวัฒนา เมืองสุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในงานการประชุม The 4th Meeting of the OIC Task Force on SMEs and the Related Exhibition ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

วันที่ 1 มิถุนายน ทำการย้ายสำนักงานคณบดี สำนักงานเลขานุการ ห้องปฏิบัติการและห้องพักคณาจารย์ของภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดจากชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์ มายังอาคารใหม่ “อาคารจุฬาพัฒน์ 1” ซอยจุฬาลงกรณ์ 12

วันที่ 2 มิถุนายน มหาวิทยาลัยมอบอาคารหอพักนักกีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา (อาคารจุฬาพัฒน์ 3) พื้นที่ 678 ตารางเมตรแก่คณะฯ โดยคณะฯ ใช้งบประมาณส่วนของโครงการเร่งรัด และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลในการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นอาคารหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร และหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ

วันที่ 30 สิงหาคม เปิดห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมชาย นีละไพจิตร และอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอย่างเป็นทางการโดยอธิการบดีร่วมกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน งบประมาณทั้งหมดในการจัดทำห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมชาย นีละไพจิตร จำนวน 1,310,282 บาท ได้มาจากการบริจาคของผู้มีอุปการคุณ (นายสมชาย นีละไพจิตร คือทนายความจากสภาทนายความที่ช่วยเหลือคณะฯ และมหาวิทยาลัยทำคดีให้นิสิตคนหนึ่งของคณะฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2546 ต่อมาได้หายสาบสูญไป)

ภาคปลาย ทำการย้ายการเรียนการสอนของภาควิชากายภาพบำบัดจากอาคารวิทยกิตติ์มาอยู่ที่อาคารจุฬาพัฒน์ 2 ชั้น 1 และบางส่วนของชั้น 2 รวมพื้นที่ 550 ตารางเมตร ขณะเดียวกัน คณะฯ คืนพื้นที่อาคารวิทยกิตติ์ชั้น 13 จำนวน 1,800 ตารางเมตรแก่มหาวิทยาลัย เหลือพื้นที่ไว้สำหรับหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวน 682 ตารางเมตร

วันที่ 27 ตุลาคม คณะฯ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจัดการประชุม “The Technical Meeting on IMT-GT Scientific Laboratory Networking for Halal Food Inspection and Accreditation” ณ อาคารจุฬาพัฒน์ 1 คณะสหเวชศาสตร์ มีผู้เข้าร่วม 15 คน เป็นชาวต่างชาติ 4 คน

พฤศจิกายน จัดการประชุมวิชาการสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมเอเชีย ระหว่างวันที่ 17-18 มีผู้เข้าร่วม 231 คน มีร้านค้าร่วมแสดงนิทรรศการ 10 ร้าน

วันที่ 22 ธันวาคม คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ก.พ.บ.) อนุมัติงบประมาณปี พ.ศ. 2550-2552 จำนวน 65,250,000 บาท (หกสิบห้าล้านสองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) แก่โครงการ “การประยุกต์วิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออกด้านอาหารฮาลาลของประเทศ (โครงการต่อเนื่องจากโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและบริการทางวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาลพร้อมโครงข่าย)” ของคณะฯ ตามการเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะ เลขานุการของคณะกรรมการฯ มติดังกล่าวได้รับการรับรองผ่านมติคณะรัฐมนตรีวาระเพื่อทราบจร เรื่องที่ 6 วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2548

พ.ศ. 2549
วันที่ 9 มีนาคม คณะสหเวชศาสตร์และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลเข้าร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สถาบันอาหาร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมเป็นเจ้าภาพงาน Thailand Halal Hub ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า มีผู้ลงทะเบียนร่วมงาน 323 คน

เมษายน คณะฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ส.ส.ว.) จำนวน 5 ล้านบาทเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาล” (Business Incubator for Halal Products หรือ BIHAP)

วันที่ 8 พฤษภาคม ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลรับรางวัล Halal Journal Award of Best Innovation in Halal Industry จากนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ดาโต๊ะ เสรี อับดุลลา บินหะยี อะหมัด บาดาวี ในงาน World Halal Forum ณ โรงแรม Crowne Plaza Mutiara Hotel กรุงกัวลาลัมเปอร์

ภาคต้น ปีการศึกษา 2549 มีการย้ายห้องปฏิบัติการของภาควิชากายภาพบำบัดจากชั้น 1 อาคารจุฬาพัฒน์ 2 ซึ่งมีขนาดคับแคบไปที่ชั้น 3 อาคารเดียวกัน เพิ่มพื้นที่ห้องปฏิบัติการสองห้องจาก 306 ตารางเมตรเป็น 396 ตารางเมตร จากการอนุมัติของมหาวิทยาลัย โดยคณะฯ เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

กรกฎาคม คณะฯ ได้รับมอบพื้นที่ธาราบำบัดชั้น 1 อาคาร 100 ปีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ) ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จและจัดสรรเป็นอาคารบริการทางสุขภาพสำหรับ 4 คณะ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจัดสรรพื้นที่บางส่วนของชั้น 1 พื้นที่ทั้งหมดของชั้น 3 และชั้น 4 แก่คณะฯ รวมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตรเพื่อใช้เป็นหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพและด้านอื่น ๆ

คณะฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ The First International Halal Science Symposium (attached to the First Thailand Congress of Nutrition) ร่วมกับสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเครือข่ายโภชนาการ วันที่ 31 สิงหาคม -2 กันยายน ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเปิดงาน มีผู้ลงทะเบียนร่วมงาน 1,200 คน ทูตานุทูต 18 ประเทศ เป็นชาวต่างชาติ 49 คนจาก 13 ประเทศ ทั้งนี้โดยได้รับงบประมาณบางส่วนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

กันยายน คณะฯ ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนคงยอดเงินต้นจำนวน 50,000,013 บาท (ห้าสิบล้านสิบสามบาทถ้วน) โดยเป็นการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยครึ่งหนึ่งตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ในเดือนนี้คณะฯ คืนพื้นที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดในอาคารวิทยกิตติ์ ชั้น 13 จำนวน 682 ตารางเมตรแก่มหาวิทยาลัย

ตุลาคม มหาวิทยาลัยเริ่มโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่รอบอาคารจุฬาพัฒน์ 1 และพื้นที่ระหว่างอาคารจุฬาพัฒน์ 1 จุฬาพัฒน์ 2 จุฬาพัฒน์ 3 และจุฬาพัฒน์ 4 กำหนดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550

พ.ศ. 2554
หลังจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทำให้คณะสหเวชศาสตร์ได้ปรับปรุงการบริหารหน่วยงานภายในใหม่ โดยในการประชุมของสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 733 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 จึงอนุมัติให้ออกข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานภายในคณะสหเวชศาสตร์ พ.ศ. 2554 โดยได้ปรับปรุงภาควิชาใหม่ ประกอบด้วย 5 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชากายภาพบำบัด ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก และภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร

คณะสหเวชศาสตร์ยุคทศวรรษที่สาม

พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน

พ.ศ. 2558
คณะสหเวชศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นการปรับปรุงหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรของโรงเรียนรังสีเทคนิค สังกัดภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการผลิตบัณฑิตในวิชาชีพนักรังสีเทคนิค

พ.ศ. 2560
วันที่ 1 กันยายน คณะสหเวชศาสตร์ได้ทำการย้ายห้องปฏิบัติการจากอาคารจุฬาพัฒน์ 1 ชั้น 3-4 (ห้องปฏิบัติการวิจัยคณะสหเวชศาสตร์ และห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก), อาคารจุฬาพัฒน์ 2 ชั้น 1 (เฉพาะห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิกและวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก) อาคารจุฬาพัฒน์ 3 ชั้น 1-4 (ห้องปฏิบัติการภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร) และอาคารจุฬาพัฒน์ 4 ชั้น 1 (ห้องปฏิบัติการภาควิชาเคมีคลินิก และห้องปฏิบัติการภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก) มายังอาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 2-7 ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพหลังใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นคณะแรกที่ได้ทำการย้ายมาใช้งานที่อาคารดังกล่าว

พ.ศ. 2564
คณะสหเวชศาสตร์ได้ทำการย้ายศูนย์สุขภาพสหเวชศาสตร์ (ชั้น 1) คลินิกกายภาพบำบัด (ชั้น 3) และคลินิกเทคนิคการแพทย์ (ชั้น 4) หน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากอาคารบรมราชชนนีศรีสตพรรษ มายังอาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 14 และชั้น 15 รวมทั้งปรับปรุงห้องปฏิบัติการอาคารจุฬาพัฒน์ 1 ชั้น 3-4 (เดิม) ให้เป็นห้องพักคณาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร ภาควิชารังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์ และห้องประชุม 1414 รวมทั้งทำการย้ายห้องพักคณาจารย์ทั้ง 2 ภาควิชาจากอาคารจุฬาพัฒน์ 3 และอาคารจุฬาพัฒน์ 6 มายังอาคารจุฬาพัฒน์ 1 ชั้น 3 และชั้น 4

พ.ศ. 2565
วันที่ 15 มีนาคม คณะสหเวชศาสตร์ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอเอชเอส ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (AHS CU Enterprise Co., Ltd.) เพื่อรองรับธุรกิจด้านนวัตกรรมจากการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของบุคลากรของคณะสหเวชศาสตร์ รวมทั้งสร้างงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่สังคม

พ.ศ. 2566
คณะฯ ทำการคืนพื้นที่อาคารจุฬาพัฒน์ 3 และอาคารจุฬาพัฒน์ 4 ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน อาคารจุฬาพัฒน์ 3 เป็นพื้นที่ CU Enterprise ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารจุฬาพัฒน์ 4 ชั้น 1 เป็นพื้นที่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีการเปิดศูนย์บำบัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยโภชนาการและการออกกำลังกายทางการแพทย์ (MNET Center : ศูนย์เอ็มเน็ต) สังกัดหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สหสาขาวิชาชีพ จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งเน้นให้คำปรึกษาผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง หรือโรคอ้วน รวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องการเตรียมตัวให้เข้ากับเทรนด์สังคมสูงวัยในอนาคต สามารถแนะนำแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกาย หรือให้คำปรึกษาอื่น ๆ ด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายแบบเฉพาะบุคคล

พ.ศ. 2567
คณะฯ ทำการคืนพื้นที่อาคารจุฬาพัฒน์ 6 และอาคารบรมราชชนนีศรีสตพรรษ ชั้น 1, 3 และ 4 ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ในปัจจุบันคณะสหเวชศาสตร์มีพื้นที่ของคณะฯ ได้แก่ อาคารจุฬาพัฒน์ 1 อาคารจุฬาพัฒน์ 2 และอาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 2-7 และชั้น 14-15

ทำเนียบคณบดีคณะสหเวชศาสตร

หัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์

28 ธันวาคม 2527-27 ธันวาคม 2531

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กล้าหาญ ตันติราษฎร์


28 ธันวาคม 2531-15 พฤศจิกายน 2534

รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนา ศานติยานนท์


คณะสหเวชศาสตร์

28 สิงหาคม 2535-31 สิงหาคม 2543

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยพร ณ นคร


1 กันยายน 2543-31 สิงหาคม 2551

รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน


1 กันยายน 2551-31 สิงหาคม 2555

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา นพพรพันธุ์


1 กันยายน 2555-31 สิงหาคม 2559

ศาสตราจารย์ ดร.ประวิตร เจนวรรธนกุล


1 กันยายน 2559-31 สิงหาคม 2567

รองศาสตราจารย์ ดร.ปาลนี อัมรานนท์


1 กันยายน 2567-ปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทวิน เทนคำเนาว์