การก่อตั้งภาควิชา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์

ปีพุทธศักราช 2487 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลปัจจุบัน) ขาดแคลนบุคลากรที่จะทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จึงโยกย้ายพยาบาลบางส่วนมาฝึกหัดตรวจวิเคราะห์ ก่อให้เกิดปัญหาการใช้บุคลากรไม่ตรงตามเป้าหมายการผลิต หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์) ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในขณะนั้น ได้นำปัญหาดังกล่าวเสนอพระอัพภันตราพาธพิลาศ (กำจร พลางกูร) อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาปัญหาและร่างหลักสูตร เพื่อผลิตบุคลากรที่ตรงตามสายงาน แต่โครงการต้องระงับไป เพราะขาดแคลนงบประมาณเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพอดี

ปีพุทธศักราช 2497 หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส) อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คนต่อมา ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่ โดยขอความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID ในปัจจุบัน) ซึ่งได้รับการตอบสนองให้ความสนับสนุนด้วยดี ทางมหาวิทยาลัยจึงร่างหลักสูตรตามแบบที่ใช้ในประเทศอเมริกาขณะนั้น คือรับบุคคลที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาฝึกอบรมระดับอนุปริญญาต่ออีก 3 ปี และเพื่อเตรียมความพร้อมในหลักสูตรดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2498 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ส่ง นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ และ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเทคนิคการแพทย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ

ผู้บริหารโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รุ่นแรกมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดี และหัวหน้าภาควิชาเคมีคลินิกไปด้วย ส่วน ศาสตราจารย์ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ เป็นรองคณบดี และหัวหน้าภาควิชาคลินิคัลไมโครสโคปี เป็นผู้ดูแลบริหารงานคณะเทคนิคการแพทย์ ส่วนที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยคณะเป็นผู้ให้บริการห้องปฏิบัติการกลางแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย จนกระทั่งถูกคำสั่งคณะปฏิวัติสั่งโอนไปเป็นภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2514 และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ ยังได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอยู่ระยะหนึ่ง จึงเปลี่ยนเป็นท่านอื่น และเป็นที่น่าเสียใจที่ทั้งสองท่านได้ล่วงลับไปแล้ว จึงขอนำรูปของท่านมาให้คนรุ่นหลังได้รู้จักกัน

องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความเห็นชอบโครงการผลิตบุคลากร เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ที่มหาวิทยาลัยแพทย์ขอรับการสนับสนุน โดยได้ลงนามให้ความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2499 และเริ่มก่อสร้างโรงเรียนเพื่อฝึกอบรมขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมกันนั้น องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่ง Dr.Robert W. Prichard มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมี นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง พันโทนิตย์ เวชชวสิสติ ศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ และ นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณะกรรมการร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้ใช้ชื่อว่า “เทคนิคการแพทย์” หลักสูตรในระยะแรก ตั้งแต่รุ่นที่ 2 ถึงรุ่นที่ 7 มีการสอนถ่ายภาพเอกซ์เรย์และล้างฟิล์มร่วมด้วย

นักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทยรับโอนมาจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มาเรียนเตรียมเทคนิคการแพทย์ปีที่ 1 โดยใช้สถานที่และอาจารย์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) ซึ่งนักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทยมีเพียง 5 คนเท่านั้น วันที่ 13 พฤษภาคม 2499 มีประกาศกฤษฎีกาจัดตั้ง “โรงเรียนเทคนิคการแพทย์” สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 73 ตอนที่ 40 วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2499) โดยมีภารกิจหลัก 2 ประการคือ จัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักเทคนิคการแพทย์ และให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทย สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาเทคนิคการแพทย์ (อทกพ.) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2500

ต่อมามีประกาศกฤษฎีกาจัดตั้ง “คณะเทคนิคการแพทย์” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2500 (ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 74 ตอนที่ 60 วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2500) โดยมี นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดีท่านแรก ซึ่งนับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์เทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปีพุทธศักราช 2503 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ปรับขยายหลักสูตรจากอนุปริญญา เป็นระดับปริญญาตรี (ปรับก่อนประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 ปี) โดยรับนักศึกษาอนุปริญญาปีสุดท้าย ที่มีคะแนนตลอดหลักสูตรเกิน 70% มาศึกษาต่ออีก 1 ปี ได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) ซึ่งบัณฑิตรุ่นแรกที่มีคุณวุฒิ วท.บ. (เทคนิคการแพทย์) มีเพียง 3 คนเท่านั้น

จากวันนั้น ถึงวันนี้ วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ของเรา ได้หยั่งรากลึกในหน้าประวัติศาสตร์มาแล้วกว่าสี่ทศวรรษ จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพียงแห่งเดียว ได้แตกดอกออกกอไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก จากบัณฑิตรุ่นแรกทีมีเพียง 3 คน ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายพันคน กระจายกันออกไปรับใช้สังคมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ นี่ย่อมเป็นประจักษ์พยานบ่งชี้ว่า วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีบทบาทสำคัญต่อระบบสุขภาพของคนไทยมาช้านานแล้ว

(เรียบเรียงจากหนังสือรับน้องเทคนิคการแพทย์ มหิดล รุ่นที่ 46 และรุ่นที่ 47)

พวกเราชาวเทคนิคการแพทย์ทั้งหลาย บางท่านอาจไม่ทราบความจริงว่า เราได้ต่อสู้ทุกวิถีทาง โดยเฉพาะท่านอดีตคณบดีฯ (ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์) ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบุกเบิก ต่อสู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนกระทั่งพวกเราได้มีวันนี้ และหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะต้องต่อสู้กันต่อไปด้วยความพากเพียร เพื่อให้วิชาชีพของพวกท่านทั้งหลายได้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ (หนึ่งในผู้วางรากฐานวิชาชีพ)
(ตัดตอนจากบทความเรื่อง “30 ปีของเทคนิคการแพทย์” อนุสรณ์ครบรอบ 30 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ประวัติศาสตร์ของเรา เริ่มต้นมาอย่างยาวนาน มีบุคคลสำคัญที่คอยประคับประคอง เกื้อหนุนให้วิชาชีพของเราพัฒนา ก้าวหน้าเรื่อยมา หากไม่มีก้าวแรกแห่งการเสียสละ อุทิศกายใจ ของใครบางคนเมื่อหลายทศวรรษก่อน ย่อมไม่มีก้าวที่สอง,สาม,สี่… ที่ก้าวมาถึงปัจจุบันได้

การสืบค้นประวัติวิชาชีพ และบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง เป็นโครงการหนึ่ง ที่ชมรมเทคนิคการแพทย์สัมพันธ์ตั้งใจจะจัดทำขึ้น (เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “กึ่งศตวรรษเทคนิคการแพทย์ไทย”) ทั้งนี้ เพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้อดีต จะได้เกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนวิชาชีพ ของเรา

ขอเชิญชวนคณาจารย์ และเทคนิคการแพทย์อาวุโสที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในอดีต ได้กรุณาให้ข้อมูล/รายละเอียด/ภาพถ่าย/หลักฐาน เพื่อนำมารวบรวม และเรียบเรียงเป็นประวัติวิชาชีพ ให้นักศึกษาและเทคนิคการแพทย์รุ่นหลัง ๆ ได้ศึกษาต่อไป

หัวหน้าภาควิชาอดีต-ปัจจุบัน

2536-2540, 2544-2548, 2548-2552

รองศาสตราจารย์ ดร.ทนพญ.รัชนา ศานติยานนท์


2540-2544

รองศาสตราจารย์ ดร.ทนพญ.วาริน แสงกิติโกมล


2552-2556, 2556-2560

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพ.เทวิน เทนคำเนาว์


2560-2564

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพ.วิโรจน์ บุญรัตนกรกิจ


2564-ปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนพญ.อัญชลี เฉียบฉลาด