ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก เดิมเป็นสาขาวิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก สังกัดภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งงานของภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรนี้มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ แก่นิสิตเทคนิคการแพทย์ และวิชาพยาธิวิทยาคลินิก แก่นิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นห้องปฏิบัติการกลางให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต่อมาได้แยกเป็นภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มีหมวดวิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก เมื่อตั้งเป็นคณะสหเวชศาสตร์ หมวดวิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก จึงเปลี่ยนเป็นภาควิชาหนึ่งในคณะสหเวชศาสตร์จวบจนปัจจุบัน
ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำเนิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2534 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรียนการสอนให้แก่นิสิตสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์เป็นหลัก ในปีพุทธศักราช 2536 โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พรเทพ เทียนสิวากุล (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ คนแรก กว่า 35 ปีที่ผ่านมาภาควิชามีหัวหน้าภาควิชามาแล้ว 6 ท่านดังนี้
หัวหน้าภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก
ศาสตราจารย์ ดร.พรเทพ เทียนสิวากุล
- ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2536 ถึง 27 มีนาคม 2540
- มีอาจารย์ประจำ 7 คน
- พนักงานวิทยาศาสตร์ 2 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สนอง ศิริมงคลสกุล
- ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่ 28 มีนาคม 2540 ถึง 26 มีนาคม 2548
- มีอาจารย์ประจำ 9 คน
- เจ้าหน้าที่บริการงานแพทย์ (เทคนิคการแพทย์) 1 คน
- พนักงานวิทยาศาสตร์ 2 คน
รองศาสตราจารย์สุพรรณ สุขอรุณ
- รักษาการหัวหน้าภาควิชา ตั้งแต่ 27 มีนาคม 2548 ถึง 26 พฤษภาคม 2548
- ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่ 27 พฤษภาคม 2548 ถึง 30 กันยายน 2553
- มีอาจารย์ประจำ 8 คน
- เจ้าหน้าที่บริการงานแพทย์ 2 คน
- พนักงานวิทยาศาสตร์ 1 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพันธิตรา ชาญประเสริฐ
- ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 ถึง 30 กันยายน 2557
- มีอาจารย์ประจำ 8 คน
- เจ้าหน้าที่บริการงานแพทย์ 3 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ญาณีนาถ สุวรรณวงศ์
- ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2561
- มีอาจารย์ประจำ 8 คน
- เจ้าหน้าที่บริการงานแพทย์ 2 คน
รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถกร ปาละสุวรรณ
- ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง ปัจจุบัน
- มีอาจารย์ประจำ 8 คน
- เจ้าหน้าที่บริการงานแพทย์ 2 คน
การจัดการเรียนการสอนในภาควิชา
ปัจจุบัน นี้ ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ร่วมรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิต ระดับปริญญาบัณฑิต ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ โดยร่วมกับภาควิชาเคมีคลินิก และภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก โดยภาควิชาเป็นผู้รับผิดชอบด้านการสอนใน 2 กลุ่มรายวิชาหลัก ประกอบด้วย
รายวิชาหลักด้านโลหิตวิทยาคลินิก
ซึ่งประกอบไปด้วย
- โลหิตวิทยาคลินิก I
- โลหิตวิทยาคลินิก II
- โลหิตวิทยาคลินิก III
รายวิชาหลักด้านจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก
ซึ่งประกอบไปด้วย
- การวิเคราะห์ของเหลวในร่างกาย
- ปรสิตวิทยาคลินิก
นอกจากนี้ทางภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ได้ดำเนินการการจัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิตในระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศที่เปิดสอนทางด้าน Clinical Hematology Sciences โดยเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง (โท-เอก) และหลักสูตรร่วม 2 สถาบัน กับมหาวิทยาเทคโนโลยีซิดนีย์ (University Technology of Sydney) เครือรัฐออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ราชอาณาจักรสวีเดน
งานวิจัยในภาควิชา
ในด้านงานวิจัย ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกมุ่งเน้นผลิตงานวิจัยทางด้านที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจวินิจฉัยทางด้านโลหิตวิทยา ปรสิตวิทยา การวิเคราะห์ของเหลวในร่างกาย โดยมีการศึกษาทั้งในเชิงระบาดวิทยา เชิงทดลอง เชิงประยุกต์ใช้ รวมถึงการศึกษาเชิงลึกเพื่อศึกษาหากลไกการเกิดโรค การแสดงออกของยีน การพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อใช้เป็น model ประยุกต์ใช้ในการรักษาโรค รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยทางโลหิตวิทยา และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปภาพงานวิจัย ดังนี้
- Innovations in Lab Hematology Diagnosis
- G6PD: molecular mechanism and diagnosis
- Proteomic analysis of thalassemia and leukemia
- Stem cell & signaling pathways
- Effects of herbs on leukemic cell line activities
- Gene cloning & chimeric protein engineering
- Gene editing for hematologic diseases
- Flow cytometry: Techniques & applications
- Pathophysiology & bioinformatics of Malaria
งานบริการวิชาการแก่สังคม
ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกมุ่งเน้นผลิตงานบริการแก่สังคม ทั้งในด้านการตรวจทางโลหิตวิทยา ปรสิตวิทยา และการวิเคราะห์ของเหลวในร่างกาย ดังนี้
- โครงการตรวจเลือดเติมรัก เพื่อตรวจโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแก่คู่รักก่อนวางแผนมีบุตร
- โครงการปลอดปรสิต เพื่อตรวจปรสิตหนอนพยาธิแก่เด็กด้วยโอกาสในสถานสงเคราะห์เด็กชายและเด็กอ่อน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
- โครงการปลอดมาลาเรีย เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียแก่ชาวชุมชนในเขตชายแดนประเทศไทย-พม่า และลาว
- โครงการตรวจปัสสาวะแก่ผู้สูงวัย เพื่อตรวจปัสสาวะแก่ผู้สูงวัยในสถานสงเคราะห์คนชรา
ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก