ปัจจุบันภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก คณะสหเวชศาสตร์ ร่วมรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิต ระดับปริญญาบัณฑิต ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ โดยร่วมกับภาควิชาเคมีคลินิก และภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก โดยภาควิชาเป็นผู้รับผิดชอบด้านการสอนใน 2 กลุ่มรายวิชาหลักตามศาสตร์ทางเทคนิคการแพทย์ ประกอบด้วย

รายวิชาหลักด้านโลหิตวิทยาคลินิก

ซึ่งประกอบไปด้วย

กลุ่มรายวิชาโลหิตวิทยาคลินิก I

ในรายวิชาบรรยายจะเรียนเกี่ยวกับ การสร้างเม็ดเลือดกำเนิด วิวัฒนาการ รูปร่างลักษณะ หน้าที่ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ลักษณะเฉพาะและความสำคัญของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ในด้านโครงสร้างเมแทบอลิซึม และหน้าที่ทางชีวเคมี หลักการเตรียม การย้อมสีสเมียร์เลือด และไขกระดูก การตรวจ ประเมินไขกระดูก กลไกการแข็งตัวของเลือด หลักการเจาะเลือด การใช้สารกันเลือดแข็ง หลักการเจาะเลือด การใช้อุปกรณ์ทางโลหิตวิทยา หลักการตรวจวัด ความสมบูรณ์ของเลือด (ซีบีซี) การควบคุมคุณภาพด้านโลหิตวิทยา หลักการวิเคราะห์ด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติทางโลหิตวิทยา และมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ป่วยในการดำเนินการทางห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยา

ในรายวิชาปฏิบัติการจะเรียนเกี่ยวกับ มาตรฐานความปลอดภัยของผู้ป่วยในการดำเนินการทางห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยา ปฏิบัติการเจาะเลือด การใช้สารกันเลือดแข็งทางโลหิตวิทยา การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยา การนับเม็ดเลือด การนับเกล็ดเลือด การวัดความเข้มข้นของฮีโมโกลบินและปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น การเตรียมฟิล์มเลือด การเตรียมสีสําหรับย้อมฟิล์มเลือด การย้อมฟิล์มเลือด การจําแนกเซลล์ชนิดต่าง ๆ ในฟิล์มเลือด การประเมินปริมาณเกล็ดเลือด การคำนวณและแปลผลค่าดัชนีเม็ดเลือด การวิเคราะห์และแปลผลการตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติทางโลหิตวิทยา

กลุ่มรายวิชาโลหิตวิทยาคลินิก II

ในรายวิชาบรรยายจะเรียนเกี่ยวกับ การสังเคราะห์ หน้าที่ และเมแทบอลิซึมของเหล็ก ฮีโมโกลบิน และเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดง พยาธิสรีรวิทยาและการจำแนกความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง อาการของโรค การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และแนวทางการรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของเม็ดเลือดแดง การเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยาในเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดและผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง

ในรายวิชาปฏิบัติการจะเรียนเกี่ยวกับ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยา การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด การวิเคราะห์และรายงานรูปร่างเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดอื่น ๆ ในสเมียร์เลือด ลักษณะสเมียร์เลือดในโรคต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดแดง การนับเม็ดเลือดแดงตัวอ่อน และเม็ดเลือดแดงชนิดมีนิวเคลียส การตรวจวิเคราะห์ตะกอนชนิดต่าง ๆ ในเม็ดเลือดแดงการตรวจความความผิดปกติอื่น ๆ ของเม็ดเลือดแดง การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียการตรวจหาภาวะพร่องเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดง การตรวจหาเซลล์แอลอี การแปลผลการตรวจความสมบูรณ์ของเลือดเพื่อวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง ความปลอดภัยของผู้ป่วย

กลุ่มรายวิชาโลหิตวิทยาคลินิก III

ในรายวิชาบรรยายจะเรียนเกี่ยวกับ กลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก และการแบ่งชนิดของกลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดและไขกระดูกผิดปกติ กลุ่มโรคมัยอีโลโพรลิฟเฟอเรทีฟ กลุ่มโรคลิมโฟโพรลิฟเฟอเรทีฟและกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวอื่น ๆ การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดและโรคความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ระบบการแข็งตัวของเลือด การละลายลิ่มเลือด ความผิดปกติของเกล็ดเลือด ความผิดปกติของระบบหลอดเลือด ความผิดปกติของระบบ การแข็งตัวของเลือดจากพิษงู

ในรายวิชาปฏิบัติการจะเรียนเกี่ยวกับ การจำแนกเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ในไขกระดูก ปฏิบัติการแยกชนิดของเซลล์ผิดปกติที่พบในกลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดและไขกระดูกผิดปกติจากสเมียร์เลือดและไขกระดูกในผู้ป่วย วิธีย้อมพิเศษเพื่อแยกชนิดมะเร็งเม็ดเลือด และการตรวจชนิดแอนติเจนบนผิวเซลล์ด้วยโฟลซัยโตเมทรี การตรวจโครโมโซมและการตรวจระดับยีน การตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน การตรวจพิเศษและตรวจโดยใช้เครื่องอัตโนมัติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด การรายงานและแปลผลการตรวจห้องปฏิบัติการโรคมะเร็งเม็ดเลือดและโรคผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด

รายวิชาหลักด้านจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก

ซึ่งประกอบไปด้วย

กลุ่มรายวิชาการวิเคราะห์ของเหลวในร่างกาย

ในรายวิชาบรรยายจะเรียนเกี่ยวกับ โครงสร้างและหน้าที่ของระบบทางเดินปัสสาวะ การสร้างปัสสาวะและส่วนประกอบของปัสสาวะ คุณสมบัติของปัสสาวะในภาวะปกติและผิดปกติ พยาธิกำเนิด พยาธิสรีรวิทยา และการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการของโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคเผาผลาญผิดพลาดโดยกำเนิด หลักการและวิธีการเก็บปัสสาวะ การรักษาสภาพของปัสสาวะ หลักการตรวจปัสสาวะ และการแปลผลกับความสัมพันธ์ทางคลินิก การสร้างและหน้าที่ของสารน้ำในร่างกาย ชนิดของเซลล์ที่ตรวจพบในสารน้ำของร่างกาย โรคที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารน้ำในร่างกาย การตรวจวิเคราะห์สารน้ำในร่างกาย เซลล์วิทยาของของเหลวในร่างกาย การสร้างส่วนประกอบและความผิดปกติของน้ำอสุจิ การตรวจน้ำอสุจิ การตรวจการตั้งครรภ์และการตกไข่ด้วยชุดทดสอบ ภาวะการมีบุตรยากและเป็นหมัน หลักการและวิธีใช้เครื่องตรวจอัตโนมัติในการตรวจปัสสาวะและสารน้ำในร่างกาย การควบคุมคุณภาพการตรวจของเหลวในร่างกาย

ในรายวิชาปฏิบัติการจะเรียนเกี่ยวกับ การฝึกทักษะการตรวจปัสสาวะด้วยวิธีทางกายภาพ ทางเคมี และทางจุลทรรศน์วิทยาการฝึกทักษะการนับเซลล์และแยกชนิดของเซลล์ในของเหลวอื่น ๆ ได้แก่ น้ำหล่อไขสันหลัง น้ำจากไขข้อ และน้ำซีรัส การแปลผลกับความสัมพันธ์ทางคลินิก การฝึกทักษะการตรวจ การตั้งครรภ์ การตรวจน้ำอสุจิและแปลผล ความปลอดภัยของผู้ป่วย

กลุ่มรายวิชาปรสิตวิทยาคลินิก

ในรายวิชาบรรยายจะเรียนเกี่ยวกับ รูปร่างลักษณะ วงจรชีวิต การติดต่อ การก่อโรค พยาธิสภาพ และระบาดวิทยาของเชื้อปรสิตและแมลงที่มีความสำคัญทางการแพทย์ในระยะต่าง ๆ วิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจและการตรวจวินิจฉัยรวมถึงวิธีการควบคุมป้องกันในร่างกาย

ในรายวิชาปฏิบัติการจะเรียนเกี่ยวกับ ทักษะวิธีการทางห้องปฏิบัติการปรสิตวิทยาในการตรวจหาจำแนกเชื้อปรสิตและแมลงที่มีความสำคัญทางการแพทย์ การเก็บสิ่งส่งตรวจ การควบคุมคุณภาพ การรายงานและแปลผลการตรวจ และการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย

นอกจากนี้ทางภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ได้ดำเนินการการจัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิตในระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของประเทศที่เปิดสอนทางด้าน Clinical Hematology Sciences โดยเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง (โท-เอก) และหลักสูตรร่วม 2 สถาบัน กับมหาวิทยาเทคโนโลยีซิดนีย์ (University Technology of Sydney) เครือรัฐออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ราชอาณาจักรสวีเดน

หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวิชา วิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ด้านโลหิตวิทยา มีความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และบูรณาการกับศาสตร์อื่นแบบสหวิทยาการ เพื่อวิเคราะห์ วิจัย สังเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือผลิตนวัตกรรมได้

หลักสูตรที่ภาควิชาฯ ร่วมรับผิดชอบ

ปริญญาตรี


ปริญญาตรี

สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์

หลักสูตรที่ภาควิชาฯ รับผิดชอบ

ปริญญาโท


ปริญญาโท

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก (ต่อเนื่อง)

ปริญญาโท

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก (นอกเวลา)

ปริญญาเอก


ปริญญาเอก

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก (ต่อเนื่อง)