ประวัติความเป็นมา

ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด เป็นส่วนราชการหนึ่งในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ภาควิชาฯ รับผิดชอบร่วมผลิตบัณฑิตในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ โดยเปิดสอนรายวิชา ทางด้านการธนาคารเลือด ต่อมา ในปี พ.ศ. 2539 ได้เปิดสอนรายวิชาแบคทีเรียวิทยาคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก และรายวิชา คอมพิวเตอร์สำหรับสหเวชศาสตร์เพิ่มขึ้น และในปีการศึกษา 2554 ภาควิชาฯได้ เปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เพิ่มอีก 1 หลักสูตร คือหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา วิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลทางจุลชีววิทยาทางการแพทย์และ วิทยาภูมิคุ้มกัน ด้วยความรับผิดชอบในการสอนสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ภาควิชาฯ จึงเห็นควรเปลี่ยนชื่อภาควิชาเป็น “ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก” เพื่อให้สอดคล้องกับรายวิชาที่รับผิดชอบในปัจจุบัน

ปณิธาน

ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดและจุลชีววิทยาคลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งความรู้ทาง ด้านวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต วิทยาภูมิคุ้มกัน และจุลชีววิทยาคลินิก โดยมุ่งมั่นในการสร้างบัณฑิตให้เป็น ผู้มีทักษะทางวิชาชีพ มีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อรับใช้สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนมุ่งบุกเบิกแสวงหาและ ถ่ายทอดความรู้และประยุกต์เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสรรสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และสังคมทั้งในประเทศและนานา อารยประเทศ

วัตถุประสงค์

  1. ผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการปฏิบัติงานในสาขาวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต วิทยาภูมิคุ้มกัน และจุลชีววิทยาคลินิก
  2. มุ่งบุกเบิกแสวงหาเพื่อสร้างองค์ความรู้ ผลิตผลงานทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ แก่สังคมในระดับชาติและนานาชาติ และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทาง วิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลทางจุลชีววิทยาทางการแพทย์และวิทยาภูมิคุ้มกันคลินิก และ บูรณาการองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ ของสังคมทั้งในระดับชาติและนานาอารยประเทศ
  3. ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต วิทยาภูมิคุ้มกัน และจุลชีววิทยาคลินิก แก่ชุมชนและสังคม
  4. สนับสนุนคณาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนให้พัฒนาความรู้ที่ทันสมัยนำมาพัฒนาการเรียนการสอนแก่นิสิต ตลอดจนพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพสูงขึ้น