หลักสูตรในระดับปริญญามหาบัณฑิต
(ระดับปริญญาโท)
การพัฒนาทางด้านจุลชีววิทยาทางการแพทย์และวิทยาภูมิคุ้มกันในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากทั้งในการวินิจฉัยโรค การรักษา การควบคุม และการป้องกันโรค อาทิเช่น การวินิจฉัยโรคโดยใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา การศึกษาทางระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อ และรูปแบบการดื้อยาปฏิชีวนะ การค้นพบเชื้ออุบัติใหม่ เชื้ออุบัติซ้ำ ยีนและการกลายพันธุ์ของจุลชีพ กลไกและพยาธิสภาพการเกิดโรคในระดับเซลล์และโมเลกุล ปัจจัยความรุนแรงในการทำให้เกิดโรค ความสัมพันธ์ระหว่างจุลชีพกับเซลล์เจ้าบ้าน ภูมิคุ้มกันวิทยาและโลหิตวิทยาภูมิคุ้มกันในระดับเซลล์ การศึกษาความบกพร่องหรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การปลูกถ่ายอวัยวะ เซลล์ต้นกำเนิด การรักษาทางอิมมูนบำบัด การผลิตชุดทดสอบในการวินิจฉัยโรค การพัฒนายาและวัคซีน การศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยง รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์ระดับโมเลกุล อาทิเช่น เครื่อง Infrared spectroscopy, Mass Spectrometer, Atomic absorption, Inductively Coupled Plasma, Confocal microscope, Ultracentrifuge, Automated sequencer, ความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นและความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านการวิจัยและการประยุกต์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการผลิตบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในศาสตร์ระดับสูง มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการ วิจัย สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของวงการวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ตลอดจนพัฒนาการวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านจุลชีววิทยาทางการแพทย์ และวิทยาภูมิคุ้มกัน โลหิตวิทยาภูมิคุ้มกัน เพื่อประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ และพัฒนางานทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์โดยเฉพาะการต่อยอดงานประจำให้เป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าทางวิชาการแก่สังคม ประเทศ ชาติ และในระดับนานาชาติ
ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาศาสตร์ทางด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา ร่วมกับศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเล็งเห็นความจำเป็นและความสำคัญในการบูรณการศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลกับสาขาวิชาดังกล่าว โดยมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการวิจัย ร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอนและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก และที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม ทั้งในหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตชีวเคมีคลินิกและอณูทางการแพทย์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตชีวเวชศาสตร์ สหสาขาวิชา ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นในระดับมหาบัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวิจัยทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งมีอุปกรณ์และเครื่องมือทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยที่ทันสมัย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากงบประมาณพัฒนาวิชาการจุฬาฯ 100 ปี ภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และมีความร่วมมือสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเสริมให้การเรียนการสอน และการวิจัยอันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรมีความสมบูรณ์และหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและการพัฒนางานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และการวิจัยในปัจจุบัน ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้ จะเป็นผู้ที่พร้อมทั้งด้านศาสตร์ทางจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาในระดับกว้างและระดับลึก มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคนิควิเคราะห์ทั้งในด้านเครื่องมือและเทคโนโลยีในการตรวจที่ทันสมัย ในระดับเซลล์และโมเลกุล สามารถเชื่อมโยงและผสมผสานความรู้ทางด้านจุลชีววิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยาทางการแพทย์และโลหิตวิทยาภูมิคุ้มกัน กับศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างกว้างขวางทั้งในหน้าที่ ผู้จัดการห้องปฏิบัติการ หัวหน้า นักวิจัย ที่ปรึกษาห้องปฏิบัติการ หรือ อาจารย์