ชานมไข่มุกแฝงมุกร้าย คอลัมน์… รู้ลึกกับจุฬาฯ

ปัจจุบันธุรกิจชานมไข่มุกเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัยมากขึ้น ตั้งแต่เด็กไปจนผู้สูงอายุต่างก็นิยมชมชอบเครื่องดื่มชนิดนี้ที่มีการผสมส่วนประกอบต่างๆ นานา โดยเฉพาะเมื่อเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ มากมาย เช่น เพิ่มชีส ช็อคโกแลต หรือบราวน์ชูก้า ที่กำลังมาแรงที่สุดในขณะนี้ ก็ยิ่งเสริมเทรนด์เครื่องดื่มเดี๋ยวนี้ให้เป็นที่ติดอกติดใจมากขึ้น เรียกว่าหันไปทางไหนก็มีร้านชานมไข่มุกทุกมุมเมือง

แน่นอนว่าการดื่มชานมไข่มุกมากเกินปริมาณที่แนะนำต่อวันอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของทุกๆ วัย แต่วัยที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือวัยเด็ก นักโภชนาการห่วงเตือนการบริโภคชานมไข่มุกมีภัยต่อสุขภาพมากกว่าเรื่องน้ำหนักเกิน เพราะว่าเด็กอาจมีพฤติกรรมติดหวาน ส่วนผสมแฝงทั้งปริมาณน้ำตาลสูงและอาจมีสารกันบูด เป็นภัยต่อสุขภาพกายและอาจสร้างปัญหาขาดสารอาหาร

ผศ.ดร.กิตณา แมคึเน็น อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การควบคุมการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงควรเริ่มตั้งแต่เด็กๆ เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อโตไปจะเลิกยาก การได้รับปริมาณน้ำตาลเกินต่อวันเป็นประจำจะส่งผลให้เด็กติดหวาน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ระบบเผาผลาญมีปัญหาตั้งแต่อายุน้อยๆ มีโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นภัยใกล้ตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดผิดปกติ รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ  ภัยเงียบที่ผู้ป่วยอาจจะรู้ตัวเมื่อสายเกินไป

“สาเหตุของโรคก็มาจากพฤติกรรมชอบทานอาหารหวาน มัน เค็ม เกินมาตรฐาน ยังไม่นับสารปนเปื้อนอื่น ๆ อีกที่ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ว่าชานมไข่มุกแต่ละยี่ห้อนั้น ๆ มีส่วนผสมของอะไรบ้าง” ผศ.ดร.กิตณากล่าว

จากการสำรวจของกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า ในขณะที่สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ ที่ชอบเครื่องดื่มรสหวาน ทำให้เด็กไทยจำนวนมากในยุคนี้มีภาวะน้ำหนักเกิน รวมถึงกลายเป็นเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลกลางปี 2562 จากศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อบริโภค เผยผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูด น้ำตาล และโลหะหนักในชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ พบตัวอย่างเม็ดไข่มุกมีสารกันบูด 100% แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน และยังพบว่า ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำต่อวัน บางยี่ห้อมีน้ำตาลสูงถึง 18 ช้อนชา ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ร่างกายเราไม่จำเป็นต้องได้รับพลังงานเพิ่มจากน้ำตาลที่เติมเสริมแต่งเข้าไปในอาหารเลย

ผศ.ดร.กิตณา ย้ำว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเราไม่ควรได้รับพลังงานจากน้ำตาลเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่แนะนำต่อวัน และการได้รับน้ำตาลน้อยกว่าร้อยละ 5 ของพลังงานที่แนะนำต่อวันจะส่งผลดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ จึงแนะนำว่าคนทั่วไปควรได้รับน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (คำนวณจากความต้องการพลังงานวันละ 2000 กิโลแคลอรี)“หากเป็นไปได้ การไม่เติมน้ำตาลเพิ่มลงไปในอาหารเลยหรือลดปริมาณน้ำตาลต่อวันให้น้อยที่สุดก็จะดีที่สุดต่อสุขภาพ และไม่แนะนำการเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี”

น้ำตาลในชานมไข่มุกหวานๆ ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในช่องปากอีกด้วย “เด็กอาจจะแปรงฟันยังไม่ค่อยดีพอ น้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มหวานๆ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาฟันผุและสุขภาพช่องปากไม่ดี ดังนั้นการที่ผู้ปกครองดูแลและควบคุมการรับประทานอาหารหวานๆ ที่มีน้ำตาลสูงกันตั้งแต่เด็กจะดีกว่าที่จะมาแก้ไขตอนโตแล้วเพราะแก้ไขยาก”

นอกจากนี้ ในชาไข่มุกยังมีสารคาเฟอีนจากชา ซึ่งส่งผลต่อสมาธิการเรียนรู้และอารมณ์ของเด็กได้ ทำให้เด็กตื่นตัว นอนไม่หลับในเวลากลางคืน อาจส่งผลต่อสมาธิการเรียนรู้ในตอนกลางวันที่ต้องจดจ่อกับการเรียน นอกจากนี้เด็กอาจติดคาเฟอีน ได้หากดื่มชาในปริมาณมากเป็นประจำ และเมื่อหยุดดื่มจะทำให้เกิดภาวะขาดคาเฟอีน เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ มีปัญหาเรื่องอารมณ์ เช่น หงุดหงิดฉุนเฉียว หรือมีอาการซึมเศร้า ไม่สามารถจดจ่อมีสมาธิได้

“อีกทั้งคาเฟอีนยังเพิ่มการขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น หากไม่ได้รับแคลเซียมจากอาหารอื่นๆ อย่างเพียงพอ จะส่งผลต่อการสร้างกระดูกของเด็กได้ และหากยังติดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนไปจนกระทั่งโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็จะทำให้กระดูกพรุนเร็วขึ้น นอกจากนี้คาเฟอีนและแทนนินที่พบในชายังส่งผลทำให้เด็กเกิดอาการท้องผูกได้ด้วย โดยเฉพาะหากได้รับใยอาหารจากผักผลไม้น้อยและดื่มน้ำไม่เพียงพอ”

ยิ่งไปกว่านั้น อาหารเครื่องดื่มที่มีความหวานสูงอาจทำให้เด็กอ้วนแต่ขาดสารอาหารอื่นที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต “น้ำตาลที่อยู่ในชานมไข่มุกรสหวานๆ นั้น จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงเร็ว แต่หลังจากนั้นน้ำตาลในเลือดก็จะลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ทำให้เด็กรู้สึกโหยหาขนมหวานหรือเครื่องดื่มรสหวานเพื่อเติมเต็มน้ำตาลในเลือดให้สูงอยู่ในระดับเดิมอยู่เรื่อยๆ จึงเสี่ยงที่จะกลายเป็นเด็กอ้วนแต่ขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ประเภทอื่นได้ หากเลือกรับประทานแต่ขนมหวานหรือเครื่องดื่มรสหวานแทนที่จะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ผักผลไม้ร่วมด้วย”

เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้ปกครองควรกำกับปริมาณการรับประทานชานมไข่มุกของเด็ก เช่น การจำกัดปริมาณให้ดื่มน้อยลง หรือปรับเปลี่ยนวัตถุดิบโดยอาจเปลี่ยนจากตัวชาเป็นน้ำผลไม้รสไม่หวานแทน เลือกสั่งเครื่องดื่มแบบหวานน้อย ใช้นมไขมันต่ำหรือพร่องมันเนย  เลือกไข่มุกที่ทำจากแป้งบุกแทนแป้งสาคูแบบปกติ ใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล เป็นต้น

แต่การป้องกันปัญหานี้ เริ่มต้นได้ที่ผู้ปกครอง เพราะผู้ใหญ่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก“ผู้ปกครองอาจจะดื่มให้เด็กเห็น ทำให้เด็กอยากเลียนแบบและขอชิม หากผู้ปกครองดื่มทุกๆ วัน เค้าก็จะมีโอกาสที่จะอยากดื่มตาม ถ้าบอกเด็กว่าไม่ให้กินแต่ผู้ใหญ่เองยังไม่ยอมเลิก สิ่งที่ตามมาคือเด็กก็จะไม่เข้าใจว่าทำไม ฉะนั้นถ้าหากผู้ใหญ่เองก็ยังเลิกของหวานๆ ที่เสี่ยงต่อสุขภาพไม่ได้ ก็ไม่ควรเอาของนั้นเข้าบ้าน หรือเลิกสร้างพฤติกรรมบริโภคที่ทำให้เด็กเลียนแบบ พยายามลด-ละ-เลิกของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ใช่เฉพาะชานมไข่มุกแต่รวมถึงอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพทั้งหลายด้วย”

ใกล้วันเด็กแล้ว ผู้ปกครองอาจมีแผนการพาลูกๆ หลานๆ ไปเที่ยว และกินฉลองวันพิเศษสำหรับเด็ก เด็กๆ จะได้รับการตามใจเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะช้อปและชิมของอร่อยๆ ต่างๆ นานา ถึงเวลาที่ผู้ปกครองจะเริ่มสร้างสุขลักษณะที่ดีในการบริโภคอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะเครื่องดื่มยอดนิยมอย่างชานมไข่มุก ซึ่งอาจจะแฝงโทษเป็นมุกร้ายๆ สำหรับเด็กๆ ได้ หากดื่มเป็นประจำในปริมาณมากและละเลยการรับประทานอาหารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมด้วย

ข้อมูลจาก : รู้ลึกกับจุฬาฯ ฉบับที่ 06/01/2020  https://www.chula.ac.th/news-and-knowledge/cu-inside/