ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการวิจัยและนวัตกรรมด้านภาวะออทิซึม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Center of Excellence for Chulalongkorn Autism Research and Innovation (Chula ACE)
หน่วยปฏิบัติการวิจัยของเรามีพันธกิจในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก ด้วยการสรรสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในบทบาทของปัจจัยพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุหรือเพิ่มความเสี่ยงของออทิสติกและภาวะทางจิตเวชต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการคัดกรอง วินิจฉัย จำแนกประเภท พยากรณ์ บำบัดรักษา และป้องกันภาวะจิตเวช ที่มีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาวะของผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ด้วยความเชี่ยวชาญด้านชีววิทยาเชิงระบบ บูรณาการโอมิกส์หลายระดับ ประสาทวิทยาศาสตร์ ชีวเคมีคลินิก สนเทศศาสตร์สุขภาพ และปัญญาประดิษฐ์ ของบุคลากรในหน่วยวิจัยร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ
ขอบเขตการวิจัย
1. การศึกษาพัฒนานวัตกรรมในการคัดกรองและจำแนกกลุ่มผู้มีภาวะออทิสติก เพื่อค้นหาสารบ่งชี้และสารเป้าหมายระดับชีวโมเลกุลสำหรับออทิสติกในภาพรวมและออทิสติกแต่ละกลุ่มย่อย
- การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการคัดกรองและจำแนกกลุ่มผู้มีภาวะออทิสติกตามลักษณะอาการทางคลินิก ร่วมกับการวิเคราะห์โอมิกส์แบบบูรณาการหลายระดับ เพื่อค้นหาสารบ่งชี้และสารเป้าหมายเพื่อการบำบัดรักษาระดับชีวโมเลกุล สำหรับภาวะออทิสติกในภาพรวมและออทิสติกแต่ละกลุ่มย่อย
- การศึกษารูปแบบของโปรตีโอมและเมตาโบโลมในเซลล์จากเลือดและเนื้อเยื่อสมองของผู้มีภาวะออทิสติก เพื่อค้นหาสารบ่งชี้และสารเป้าหมายเพื่อการบำบัดรักษาระดับชีวโมเลกุล สำหรับภาวะออทิสติกในภาพรวมและออทิสติกแต่ละกลุ่มย่อย
- การศึกษาเครือข่ายควบคุมยีนโดยกลไกเหนือพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับออทิสติกแต่ละกลุ่มย่อยด้วยการวิเคราะห์ระดับเมธิเลชันของรีโทรทรานสโพซอน LINE-1 และ Alu
2. การศึกษาปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและกลไกระดับโมเลกุลที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและเกี่ยวข้องกับสาเหตุหรือความเสี่ยงของภาวะจิตเวช
- การศึกษาผลของการที่แม่ได้รับบิสฟีนอลเอในขณะตั้งท้องและกลไกระดับโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับออทิสติก ต่อรูปแบบทรานสคริปโตม อินเตอร์แอกโตม เซลล์ประสาท เซลล์ต้นกำเนิดระบบประสาท การเรียนรู้และความจำ และพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับออทิสติกของลูก
- การศึกษารูปแบบ alternative splicing ของทรานสคริปโตมในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสและคอร์เท็กซ์ส่วนหน้าของลูก ที่แม่ได้รับสารบิสฟีนอลเอขณะตั้งท้อง
- การศึกษาผลของการที่แม่ได้รับสารบิสฟีนอลเอในขณะตั้งท้องและกลไกระดับโมเลกุล ต่อกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ของเซลล์ต้นกำเนิดระบบประสาทและพัฒนาการของสมองของลูก
- การศึกษาผลของกรดโพรพิโอนิกต่อรูปแบบทรานสคริปโตมและอินเทอร์แอกโตมของเซลล์ไลน์ระบบประสาทของมนุษย์ และต่อหน้าที่ของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับภาวะออทิสติก
- ผลของการที่แม่ได้รับสารบิสฟีนอลเอในขณะตั้งท้อง ต่อรูปแบบของทรานสคริปโตมและอินเทอร์แอกโตมของกลุ่มยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของลูก
3. การพัฒนานวัตกรรมการตรวจวิเคราะห์ทางชีวเคมีคลินิกสำหรับชีวโมเลกุลและสารเคมี ซึ่งเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของภาวะจิตเวช
- การพัฒนาเทคนิคแมสสเปกโทรเมทรีเพื่อตรวจวัดปริมาณของบิสฟีนอลเอในสิ่งส่งตรวจทางชีวภาพและในอาหาร
- การพัฒนาเทคนิคแมสสเปกโทรเมทรีเพื่อตรวจวัดปริมาณของสารเคมีกำจัดวัชพืชในปัสสาวะ ได้แก่ อาทราซีน พาราควอท ไกลโฟเสท
- การพัฒนาเทคนิคแมสสเปกโทรเมทรีเพื่อตรวจวัดปริมาณของสเตอรอยด์ฮอร์โมนในซีรัมมนุษย์
- การศึกษาผลของอาทราซีนต่อระดับสเตอรอยด์ฮอร์โมนในเกษตรกรโดยใช้เทคนิคแทนเด็มแมสสเปกโทรเมทรี
- การศึกษาตรวจวัดอ็อกซิไดซ์เปปไทด์และโมดิฟายด์เปปไทด์ด้วยเทคนิคโปรตีโอมิกส์ และแมสสเปกโทรเมทรี
ความร่วมมือ
งานวิจัยเด่น
ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
หัวหน้าและผู้ร่วมวิจัย
ผศ.ดร.ทนพ.เทวฤทธิ์ สะระชนะ
(หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง)
ผศ.ดร.ทนพญ.ณัฐชยา แหวนวงศ์
ผศ.ดร.ศิริพร แสงสุธรรม
ติดต่อ
ผศ.ดร.ทนพ.เทวฤทธิ์ สะระชนะ (หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง)
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการวิจัยและนวัตกรรมด้านภาวะออทิซึม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาควิชาเคมีคลินิก คณะสหเวชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
154 อาคารจุฬาพัฒน์ 1 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330