หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านออกซิเดชั่นในโรคเม็ดเลือดแดง
Oxidation in Red Cell Disorders Research Unit
เม็ดเลือดแดงเป็นเซลล์ที่มีจำนวนมากที่สุดในร่างกาย หากมีโรคหรือภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเม็ดเลือดแดง หรือส่งผลให้เร่งปฏิกิริยาสันดาป (oxidation) อาจเหนี่ยวนำให้เม็ดเลือดแดงสามารถทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ หรือเกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดพยาธิสภาพต่างๆตามมาได้ ในระยะเวลาประมาณกว่า 10 ปีคณะผู้วิจัยได้มีส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และสร้างนวัตกรรม เกี่ยวกับการวิจัยการออกซิเดชั่นในเม็ดเลือดแดง ทั้งในโรคธาลัสซีเมีย โรคมาลาเรีย และภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในเม็ดเลือดแดง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- ผลิตผลงานวิจัย องค์ความรู้ด้านโลหิตวิทยาเม็ดเลือดแดงในเชิงลึกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่
- ผลิตผลงานวิจัยเชิงทดลอง ระบาดวิทยาและสาธารณสุข ในด้านที่เกี่ยวกับโลหิตวิทยาเม็ดเลือดแดง
- พัฒนานวัตกรรมวิธีการตรวจวินิจฉัยด้านโลหิตวิทยาเม็ดเลือดแดง
วิสัยทัศน์
งานวิจัยของหน่วยวิจัยออกซิเดชั่นในโรคเม็ดเลือดแดง ประกอบไปด้วย การศึกษาใน 3 ลักษณะ ได้แก่
- การศึกษาเชิงลึกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่
- การศึกษาเชิงทดลอง ระบาดวิทยาและสาธารณสุข
- การศึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรมวิธีการตรวจวินิจฉัย
1. การศึกษาเชิงลึกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่
คณะผู้วิจัยต้องการศึกษากลไกความผิดปกติ (Cell signaling pathways) ที่เกี่ยวข้องกับภาวะออกซิเดชันในเซลล์เม็ดเลือดแดงตัวอ่อนเพาะเลี้ยงมาจากเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell culture) ในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย/ผู้ที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์ G6PD รวมถึงศึกษาเม็ดเลือดแดงที่พร่องเอนไซม์ G6PD และธาลัสซีเมียกับผลกระทบต่ออัตราการบุกรุกและเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย และกลไกการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย
2. การศึกษาเชิงทดลอง ระบาดวิทยาและสาธารณสุข
คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาการออกซิเดชั่นของเม็ดเลือดแดง และระดับการต้านอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดแดงในผู้ที่มีภาวะบกพร่องของเม็ดเลือดแดง เช่น ในพาหะ/ผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมีย, ผู้ที่พร่องเอ็นไซม์ G6PD, ผู้ติดเชื้อมาลาเรีย ทั้งในเชิงการทดลอง (Experimental study) และการสำรวจ (Cross-sectional survey study) ทางระบาดวิทยา รวมทั้งศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของผู้มีภาวะบกพร่องของเม็ดเลือดแดงและยีนแฝงธาลัสซีเมียในกลุ่มชาติพันธุ์
3. การศึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรมวิธีการตรวจวินิจฉัย
คณะผู้วิจัยได้ทำงานพัฒนาชุดตรวจภาวะพร่องเอ็นไซม์ G6PD ในเม็ดเลือดแดง พัฒนาวิธีการตรวจวัดความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง และมุ่งวิจัยเพื่อสารบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarkers) เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของการออกซิเดชั่นของเซลล์เม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ยังมีการสร้าง พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนเพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงอีกด้วย
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.ทนพญ.ดวงดาว ปาละสุวรรณ
หัวหน้าหน่วยวิจัย
ผศ.ดร.ทนพญ.กมลลักษณ์ ลีเจริญเกียรติ
ทีมวิจัย
รศ.ดร.ทนพ.อรรถกร ปาละสุวรรณ
ทีมวิจัย
ผลงานนวัตกรรม
อยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูล
ความร่วมมือ
ติดต่อ
รศ.ดร.ทนพญ. ดวงดาว ปาละสุวรรณ
ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก คณะสหเวชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
154 อาคารจุฬาพัฒน์ 1 ถนนพระราม 1 ซอยจุฬา 12 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330